เข้ามาอัพเดท ความเป็นไปของการพูดภาษาอังกฤษกับลูกมาครบ 6 ปี ขณะนี้น้องเนยอายุ 8 ปีกว่าๆ ในวันนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว บุรุษไปรษณีย์มาส่งหนังสือเล่มส้มๆ "เด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้" ให้ที่บ้าน รีบเปิดอ่านและทำเลย ล้มลุกคลุกคลานกันน่าดู ถึงวันนี้เราก็ยังรู้สึกขอบคุณคุณบิ๊กและครอบครัว ที่ทำหนังสือเล่มนี้ออกมา ทำให้ครอบครัวเรารู้สึกว่า "คนธรรมดาๆอย่างเราก็ทำได้นะ" แล้วคุณล่ะ ทำหรือยัง?
"ยังพูดภาษาอังกฤษกันอยู่ไหม" คือคำถามที่ได้รับจากพ่อแม่หลายครอบครัว ที่อาจจะถามเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองว่า ยังมีคนที่สอนลูกพูดภาษาอังกฤษได้จริงและยังคงพูดอยู่จนปัจจุบัน
ครอบครัวเรายังพูดภาษาอังกฤษกันอยู่เหมือนเดิม โดยใช้ "ความเคยชิน" ที่เคยสอนกันมาตอนเด็กๆ เล็กสังเกตว่า สิ่งที่พูดหรือสอนลูกไป ถ้าแม่อย่างเราไม่ขยับเติมให้มากขึ้น มันก็จะเท่าเดิม และคอยลดลงเรื่อยๆ
ช่วงปีที่ผ่านมานี้เล็กอาจจะละเลยการเพิ่ม เติม เสริม ให้ลูกตามที่บอก ภาษาอังกฤษของลูกก็ ทรงๆ ทรุดๆ สำเนียงหายไปเรื่อยๆเมื่อพูดกับแม่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าลูกเลียนแบบตามโรงเรียน อีกส่วนหนึ่งเค้าก็ไม่ค่อยได้ดูการ์ตูนภาษาอังกฤษมาก เพราะว่าแต่ละวันการบ้านก็เอาเวลาไปเกือบหมดแล้ว และส่วนที่สำคัญเลยคือต้นแบบ (แม่) ไม่ได้ฝึกฝนให้มากพอ
แต่เรื่องนี้เล็กคิดว่าเราพื้นฟูได้อยู่แล้ว เรื่องสำเนียงไม่ค่อยเป็นสิ่งสะกิดใจเล็กเท่ากับเรื่องที่ลูกพูดๆ หยุดๆ คิดๆ มันไม่ลื่นไหลเหมือนตอน 3-4 ขวบจริงๆ ซึ่งเล็กเองก็เป็นเหมือนกัน แต่คิดว่าสามารถกู้คืนได้โดยใช้เวลาช่วงปิดเทอมนี้แหละ อยู่กันตลอดเหมือนตอนเด็กๆเลย (เพราะตอนนี้เล็กทำงานในร้านหนังสือนิทานภาษาอังกฤษ ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว) ต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า พูด พูด พูด กัน
มีหลายครอบครัวเริ่มต้น และพบกับความสำเร็จ หลายครอบครัวเริ่มต้นแล้วก็เลิกไปในที่สุด อะไรที่ทำให้ครอบครัวทั้งสองแบบแตกต่างกัน หลายคนคงคิดว่าเล็กจะบอกว่า "พื้นฐานภาษาอังกฤษ" เป็นสาเหตุล่ะซิ ไม่ใช่แน่นอน พื้นฐานเรื่องภาษาไม่ได้เป็นสาเหตุให้สอนภาษาลูกไม่ได้ แต่สิ่งที่แตกต่างกันที่เล็กสรุปได้คือ
1.การจัดลำดับความสำคัญ
ถ้าเราจัดความสำคัญในการพูดภาษาอังกฤษกับลูกไว้อันดับต้นๆ เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นงานอีกชนิดหนึ่งที่ "ต้องทำ" แล้วสมองจะสั่งให้เราคอยหาความรู้เพิ่มเติมเองและพยายามพูดกับลูกทันทีที่นึกได้
2.การกำหนดเป้าหมาย
เมื่อตั้งใจที่จะทำแล้ว ลองวาดความสำเร็จไว้เลยว่า "ลูกจะต้องพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ" ซึ่งตรงนี้เราสามารถดูตัวอย่างจากหลายๆบ้านที่ทำมาแล้ว (มันไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม)
3.ความมุ่งมั่น ตั้งใจ
ถึงขั้นตอนลงมือปฏิบัติ ก็ต้องเต็มที่ ทำไม่ถอย แม้ว่าจะ "ท้อมากกกก" ขอลากยาวหน่อย เพราะว่าเคยผ่านจุดนี้มาแล้ว เข้าใจดีค่ะ
4.ความอดทน
ทำไปอย่างใจเย็น เรื่อยๆ ไม่ต้องหวังผลในระยะสั้น ไม่กดดันตัวเอง ต้องเตือนตัวเองเสมอว่า มันต้องทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องพยายามอีกนิด อีกนิด
5.งานระยะยาว
มันไม่เหมือนโครงการหรืองานที่เราเคยทำ เพราะว่ามันไม่มีระยะเวลากำหนด คือทำพูดไปเรื่อยๆ อาศัยความถี่เท่านั้นที่จะทำได้สำเร็จ
มีหลายบ้านมาปรึกษาเล็กว่า ตอนนี้ลูกเป็นแบบนี้แล้ว ถูกไหม ใกล้หรือยัง เล็กก็ให้ข้อแนะนำว่าอีกนิดเดียวลูกก็จะสามารถโต้ตอบได้แล้ว แต่แล้วก็หายไปเลย คือไม่สามารถผ่านจุดนั้นได้ อยากบอกว่าถ้าเรามุ่งมั่น ต้องอย่าถอยค่ะ "อีกนิดเดียว" ท่องไว้ค่ะ อิอิ
ระหว่างที่สอนลูกพูดภาษาอังกฤษ เราก็อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังทุกวัน จนเค้าชอบอ่านมาก แต่ไม่อ่านเอง ให้เราอ่านให้ฟังฝ่ายเดียว (ซึ่งต่างกับภาษาไทย ที่เค้าชอบอ่านเองมากกว่า) เราก็เฝ้ารอคอยอีกว่า เมื่อไรเค้าจะอ่านเองซักที ณ วันนี้ วันที่รอคอยมาถึงแล้ว ลูกหยิบหนังสือภาษาอังกฤษมาอ่านเอง โดยไม่ต้องรอเรา บางคำที่อ่านไม่ออกก็จะมาถามว่าอ่านว่าอย่างไร
ลูกใช้เวลาอยู่กับหนังสือมากกว่าไอแพด ทีวี อยากบอกว่าให้ส่งเสริมเด็กแต่เล็กๆให้รักการอ่านนะคะ แล้วเมื่อโตขึ้น เราจะเหนื่อยน้อยลงค่ะ
ลองมาให้ของขวัญลูกกัน ด้วยการปลูกฝังการพูดภาษาอังกฤษกับเค้าในช่วงตั้งแต่เด็กๆ ยิ่งเริ่มตอนแรกเกิดได้ยิ่งดีค่ะ ขอย้ำว่า สอนตั้งแต่เด็กๆ ได้ผลมากกว่ามาสอนตอนเด็กเริ่มเข้า รร.ค่ะ
สมมุติว่าของขวัญชิ้นนี้มีคุณค่ามาก เราต้องพยายามเอามันมาให้ลูกให้ได้ เราก็จะทำสุดความสามารถ และถือว่ามันมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ถือเป็นงานที่ต้องทำอันดับแรกๆ แล้วเราก็จะสู้ไม่ถอย สู้ไปด้วยกันค่า
www.facebook.com/farmfunbook
line id : lek-noey
เล็กได้เขียนบล็อกไว้เมื่อปีที่แล้ว และมีข้อสรุปมาฝากกัน (เผื่อยังไม่ได้อ่าน) http://go2pasa.ning.com/profiles/blogs/5-4
ขอบคุณมากครับ ขอแชร์ให้คุณภรรยาดูด้วยนะครับ เป็นกำลังใจกันต่อไปครับ ทุกอย่างที่ทำ เพื่ออนาคตของเค้าทั้งนั้นครับ
ตอบลบตอนนี้ที่บ้านก็พยายามกันอยู่ครับ พ่อก็ยังไม่เก่ง แม่ก็ไม่ค่อยคล่อง แต่เพื่อลูกแล้ว ทำได้ครับ