เอ้า! “วันนี้ครูจะเล่านิทานให้เด็กๆฟัง ตั้งใจฟังให้ดีนะคะ” คุณเคยรู้สึกคุ้นๆกับประโยคแบบนี้ไหมคะ
แล้วเราก็จะตั้งใจฟังมากเป็นพิเศษ หลังจากที่เบื่อๆหรืออาจจะไม่มีสมาธิกับการเรียนในห้องเรียน
นั่นเป็นการเปิดประตูเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการของเด็กๆเลยทีเดียวเลยค่ะ
จากประสบการณ์การอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังมาหลายปี และยังอ่านจนถึงปัจจุบัน ซึ่งช่วงแรกของชีวิตเด็กน้อยคนนี้ แม่อ่านนิทานภาษาไทยให้ฟังตั้งแต่ยังไม่ถึง 1 ขวบ จนเมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง แม่เริ่มปฏิบัติการทางภาษาอังกฤษ จึงถึงเวลาได้ลองนิทานเมืองฝรั่งดูบ้าง
ตอนแรกจินตนาการนิทานฝรั่งไว้ซะยาก จะอ่านออกไหม จะออกเสียงถูกหรือเปล่า จะยาวไหม จะไหวหรือเปล่า ทำอะไรเกินตัวหรือเปล่าเนี่ย....กังวลไปหมดค่ะ แต่เมื่อได้ลองอ่านแล้วก็ยากจริงๆ (ฮา ฮา) เนื่องจากตอนเริ่มนั้น ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงเอามากๆ
หลังจากซื้อนิทานมาก็ต้องมานั่งอ่านเองก่อน 1 รอบ ปรากฎว่าไม่รู้จักศัพท์หลายคำ ออกเสียงไม่ถูก ต้องเปิดดิกออนไลน์ แล้วฟังเสียง จำไม่ได้อีก แอบจดคำอ่านเป็นภาษาไทยลงในหนังสือด้วย เวลาอ่านให้ลูกฟังจะได้ดูดี (ฮา)
พอเริ่มอ่านให้ลูกฟังจริงๆก็ตะกุกตะกัก หยุดๆ อ่านๆ ลืมว่าที่จดมา ออกเสียงถูกไหม คิดว่ารอบแรกที่อ่านให้ลูกฟัง นอกจากลูกจะงงๆ ว่าแม่อ่านอะไร เพราะฟังไม่รู้เรื่อง แม่มันก็งงๆ ปนเครียดๆ เหมือนกัน ว่าอ่านอะไรออกไป
ลูกเริ่มต่อต้านไม่ฟังนิทานภาษาอังกฤษ เพราะไม่รู้เรื่อง ประกอบกับตอนนั้นเริ่มพูดภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันกันด้วย ลูกก็ยังปรับตัวไม่ทัน เวลาแม่จะเริ่มอ่านนิทาน เธอก็บอกว่าไม่เอา จะให้อ่านภาษาไทย
เราต่อรองกันบอกว่า งั้นอ่านไทย 2 เล่ม อ่านอังกฤษ 1 เล่ม ลูกก็ยินยอมตามนั้น จำได้ว่าหนังสือเล่มแรกๆที่อ่านให้ลูกฟังเป็นหนังสือปกอ่อนเรื่อง Clifford the big red dog ฟังดูชื่อเรื่องก็น่าจะอ่านง่ายใช่ไหมคะ ฮึ ฮึ
ตอนแรกเลือกนิทานตามใจตัวเอง ถ้าเห็นว่าสีสวยถูกใจ ตัวหนังสือน้อยๆ ก็จะเลือกซื้อ แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ เริ่มจับทางถูก ว่าคุณลูกสาวชอบสไตล์ไหน เราก็จะเลือกหนังสือนิทานมาให้ลูกได้ถูกใจมากขึ้น เธอก็ชอบไปโดยปริยาย ไม่กี่เดือนเธอก็เลือกที่จะให้แม่อ่านนิทานภาษาอังกฤษให้ฟังมากกว่าภาษาไทย แต่ละคืนแม่ต้องอ่านให้ฟังไม่ต่ำกว่า 10 เล่ม มิฉะนั้นเธอไม่ยอมนอน
จึงสรุปวิธีเลือกนิทานภาษาอังกฤษไว้คร่าวๆ ดังนี้
1.เลือกที่ลูกชอบหรือให้ความสนใจ
พ่อแม่คงจะรู้อยู่แล้วว่าลูกชอบอะไร เช่น นางฟ้า เจ้าหญิง แม่มด มังกร หุ่นยนต์ รถไฟ เครื่องบิน สัตว์ต่างๆ ก็พยายามเลือกนิทานที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นมาอ่าน ยกเว้นว่าลูกยังเล็ก ไม่สามารถบอกความต้องการได้ ก็ให้เลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบ จะได้อ่านได้นาน ไม่เบื่อไปซะก่อน (เพราะปกติ เด็กชอบให้อ่านซ้ำๆ)
2.เลือกตามประเภทหนังสือ
เราสามารถเลือกหนังสือนิทานภาษาอังกฤษ ได้จากประเภทหนังสือ ซึ่งแต่ละประเภท มักจะแบ่งชัดเจนว่าเหมาะกับเด็กช่วงไหน จะแบ่งให้คร่าวๆ ได้ 5 แบบ คือ บอร์ดบุ๊ค (0-3ปี) , ปกแข็ง (3-6 ปี), ปกอ่อน (3 ปีขึ้นไป) , หัดอ่าน ( 5 ปีขึ้นไป), วรรณกรรม (7 ปีขึ้นไป)
3.เลือกตามเนื้อเรื่องที่ต้องการสอน
นิทานภาษาอังกฤษส่วนมากจะมีข้อคิดแฝงอยู่ในเรื่อง ถ้าเราสนใจอยากจะสอนอะไรกับลูก ก็ให้เลือกเรื่องนั้นมา เช่น เรื่องการแปรงฟัน ไปหาหมอ แบ่งปัน เอาแต่ใจตัวเอง เห็นใจคนอื่น
4.เลือกตามวัยลูก
เด็กเติบโตมีพัฒนาการ บางครั้งเค้าถึงวัยที่จะขยับนิ้ว ออกแรงฉีกกระดาษ เราต้องพยายามเลือกหนังสือให้เหมาะกับเค้า ซึ่งวัยเด็กเล็กก็ต้องเหมาะกับหนังสือบอร์ดบุ๊ค ซึ่งจะเป็นกระดาษหนา และ แข็ง ทุกหน้า ฉีกไม่ขาด หนังสือบางเล่มอาจจะยังไม่เหมาะกับลูกเรา คืออาจจะมีเนื้อเรื่องเยอะ ยังไม่ถึงวัย บางเล่มอาจจะเด็กเกินไป
5.เลือกที่ภาพสวย
ที่จริงภาพหน้าปกหนังสือ เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้คนเราเลือกหยิบขึ้นมา ภาพสวยๆ ที่ลงสีดีๆ ย่อมดีที่สุด เพราะว่าเด็กยังอ่านไม่ออก เค้าจะมองเฉพาะภาพ ถ้าภาพสามารถสื่อสารไปได้กับเนื้อเรื่อง เด็กก็จะมีจินตนาการได้กว้างไกล
6.เลือกผู้เขียน
คุณแม่บางท่านอาจจะมีนักเขียนในดวงใจ ซึ่งเป็นนักเขียนที่โด่งดัง หนังสือได้รับรางวัลมากมาย และเป็น 1 ใน 100 หนังสือที่ดีที่สุดที่เด็กควรอ่าน เช่น Eric Carl, Dr.Seuss, Julia Donaldson, Beatrix Potter, Mercer Mayer, Margaret Wise Brown
ทำไมเด็กจึงติดใจนิทานภาษาอังกฤษ มันมีอะไรแตกต่างกัน ระหว่างนิทานไทยกับอังกฤษ เดี๋ยวรอบหน้าจะมารีวิวให้ฟังกันนะคะ